Shear Revival Crystal Lake Review

16 Jan

การกลับมาอีกครั้งของ Best Water Based Pomade in 2015 โดย The Pomp เจ้าพ่อแห่งการรีวิว pomade การกลับมาครั้งนี้ จะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ มาดูกันครับ

– Design ตัวใหม่มาในกระปุกแก้วสีชา แน่นอนครับว่าดูหรูหรากว่ากระปุกพลาสติกในตัวเก่า เหมาะกับสายสะสมมาก แต่ก็แอบเห็นว่าแตกระหว่างขนส่งเยอะเหมือนกัน ตามธรรมชาติครับที่มีดีก็ต้องมีเสียครับ

– Texture เป็นเนื้อครีมสีขาว โดยเนื้อของตัวใหม่นี้จะมีความเป็น wax มากกว่าตัวเดิมนะครับ แต่การควักออกจากกระปุกไม่ต้องใช้แรงเยอะ การถูบนฝ่ามือก็จะยากกว่าตัวเก่า ส่วนการขยี้ลงหัวก็ไม่ยากครับ ใส่ทั่วหัวได้สบายๆ

– Scent เรื่องกลิ่นถือเป็นจุดเด่นของเจ้าตัวนี้เลย ยังคงสไตล์กลิ่นแอลมอนต์อยู่ดังเช่นตัวเก่าครับ แต่ผมรู้สึกว่ากลิ่นจะจางลงกว่าตัวเก่านะครับ หอมมากครับ แนะนำเลย
– Shine ความเงาของตัวนี้ อย่างที่บอกไปว่ามีความเป็น wax มากขึ้น ก็เลยเงาน้อยกว่าตัวเก่าครับ

– Strength สิ่งที่เปลี่ยนไปจากตัวเก่า คือ ตัวใหม่ Hold มากขึ้น เป็นระดับ Medium ซึ่งตัวเก่าจะเป็นระดับ Light – Medium จุดนี้ผมชอบมากจริงๆ ครับ เพราะตัวเก่านี่พอหวีซ้ำจะเริ่มมีน้ำมันออกมาเยอะ ทำให้การจัดทรงอาจด้อยลงครับ

– Washability การล้างตัวนี้ไม่ยากครับ แค่สระผมเพียง 1 ครั้งก็สะอาดหมดจดครับผม

 

ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับร่างกฎหมายภาษีการรับมรดก

28 Dec

ในช่วงนี้เราจะเห็นข่าวว่ารัฐบาลมีแนวคิดที่ต้องการเก็บภาษีมรดก ซึ่งล่าสุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. ได้ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันน่าจะอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ และน่าจะออกใช้บังคับในเร็วๆนี้ ผมจึงขอเสนอข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยขอให้ดูประกอบกับร่าง พ.ร.บ. ภาษีการรับมรดก พ.ศ. … ที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ (http://library.senate.go.th/document/mSubject/Ext34/34737_0001.PDF) ด้วยครับ ดังนี้

1. กฎหมายภาษีมรดก มีวิธีการจัดเก็บอยู่ 2 แบบ คือ (1) การจัดเก็บภาษีจากกองมรดกโดยตรง คือ เมื่อเจ้ามรดกตาย ทรัพย์สินของเจ้ามรดกจะกลายเป็นกองมรดก รัฐจะเข้ามาดำเนินการจัดเก็บภาษีทันทีเลย และ (2) การจัดเก็บภาษีจากการรับมรดก คือ การจัดเก็บภาษีเมื่อทายาทเข้ารับมรดกแล้ว สำหรับประเทศไทย ใช้วิธีที่ (2) ครับ

2. ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเมื่อมีการรับมรดก อาจก่อให้เกิดช่องว่างในจัดเก็บภาษีสำหรับกรณีที่กองมรดกยังไม่ได้แบ่ง (อาจอยู่ในขั้นของการรวบรวมทรัพย์สิน หรือพิสูจน์ความเป็นทายาท) ซึ่งในกรณีที่เจ้ามรดกมีทรัพย์สินเยอะ (คนรวย) อาจใช้เวลาในช่วงนี้นาน เพราะมีทรัพย์สินที่ต้องรวบรวมเยอะหรือทายาทแย่งชิงมรดกกัน

3. ประเทศไทยเคยมีออกกฎหมายภาษีมรดกเพื่อเก็บภาษีมรดกมาแล้วเมื่อปี 2478 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่ยกเลิกไปในปี 2487 เนื่องจากภาษีที่เก็บได้ไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องเสียงบประมาณไปในการจัดเก็บภาษีประเภทนี้

4. ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีอยู่แล้ว 12 ประเภท (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย อากรแสตมป์ ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย และการประมาณการและชำระภาษีกลางปี) เห็นว่า ควรเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี 12 ประเภทที่มีอยู่แล้ว เป็นการดีกว่าที่จะเพิ่มการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ ซึ่งเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อน และสิ้นเปลืองทรัพยากรทั้งของรัฐและผู้เสียภาษี

5. ภาษีมรดกเป็นภาษีที่รัฐต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีได้ เนื่องจาก (1) ในปัจจุบันการแพทย์มีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น (2) ก่อนที่จะมีการรับมรดกได้นั้นต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายที่ซับซ้อนยุ่งยากในกระบวนการพิสูจน์พินัยกรรมและความเป็นทายาท (Probate) ซึ่งค่อนข้างใช้ระยะเวลายาวนาน และ (3) ขั้นตอนการจัดเก็บภาษีการรับมรดกยังมีขั้นตอนหลายขั้นตอน เช่น การยื่นแบบภาษี การประเมินภาษี การอุทธรณ์ และการใช้สิทธิทางศาล ซึ่งแต่ละขั้นตอนย่อมใช้ระยะเวลานาน

6. การจัดเก็บภาษีการรับมรดกคำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของเจ้ามรดก ซึ่งการคำนวณมูลค่าหรือประเมินมูลค่าของทรัพย์มรดก อาจต้องอาศัยนักกฎหมายในการรวบรวมทรัพย์สิน นักบัญชี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

7. ทรัพย์สินบางประเภทไม่มีหลักฐานทางทะเบียนและมีสภาพคล่องสูงอาจมีการโอนถ่ายเปลี่ยนมือได้ง่าย หรือทรัพย์สินที่อยู่ต่างประเทศ รัฐซึ่งไม่มีฐานข้อมูลทรัพย์สินดังกล่าวมาก่อน อาจตรวจสอบได้ยาก ทำให้มีอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีดังกล่าว ในบางประเทศจึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายพิเศษ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมาย FATCA เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินของพลเมืองสหรัฐฯ ที่อยู่ในต่างประเทศ

8. ในปัจจุบันหลายประเทศได้ยกเลิกกฎหมายภาษีมรดกเพื่อกระตุ้นให้มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และฮ่องกง ส่วนนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และอินเดีย ก็ได้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากเกิดปัญหาการโยกย้ายเงินทุนไปลงทุนในต่างประเทศที่ไม่มีกฎหมายภาษีมรดกมากขึ้น (Capital Flight)

9. ภาษีการรับมรดกอาจทำให้แนวคิดในการใช้ชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป จากเดิมที่มักจะนิยมเก็บทรัพย์สินไว้ให้ลูกหลาน ก็อาจเกิดแนวคิดที่ว่า หากตนเองตายไปและมีมรดกตกทอดแก่ลูกหลาน รัฐบาลจะเข้ามาเก็บภาษีการรับมรดก ทำให้เป็นภาระของลูกหลาน ทำให้นำทรัพย์สินไปใช้จ่ายมากขึ้น เป็นการไม่ส่งเสริมการออม

10. ภาษีการรับมรดกอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีซ้อน เนื่องจากมีการเก็บภาษีสำหรับทรัพย์สินของคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ และทรัพย์สินของคนต่างชาติที่อยู่ในไทย ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวอาจตกอยู่ภายใต้กฎหมายภาษีมรดกของต่างประเทศแล้ว

อาจจะยาวซักหน่อย แต่ลองอ่านกันดูนะครับ 🙂

การใช้กำลัง (Use of Force) ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

5 Sep

ช่วงนี้หากใครที่ติดตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศอยู่ตลอด จะต้องเห็นข่าวความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับซีเรีย ซึ่งผู้คนทั้งโลกกำลังจับตามอง เนื่องจากสถานการณ์อาจบานปลายกลายเป็นสงครามโลกได้ครับ

ผมจึงถือโอกาสนี้มาดูว่า การใช้กำลัง (Use of Force) ในหลักกฎหมายระหว่างประเทศ มีหลักการอย่างไรกันครับ

สำหรับการใช้กำลังนั้น เป็นเครื่องมือสุดท้ายที่ใช้ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อกันครับ ในภาษาละตินเรียกว่า “Ultima Ratio” ส่วนภาษาอังกฤษจะเรียกว่า “Last Resort” (เหมือนชื่อซีรีส์เรื่องนึงที่ฉายทางช่อง AXN เลย)

เมื่อพูดถึงกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว กฎหมายฉบับนึงที่จะต้องพูดถึง ก็คงไม่พ้น “กฎบัตรยูเอ็น” หรือหลายๆคนอาจรู้จักในนามว่า  “UN Charter”  นั่นเอง ซึ่งกฎบัตรยูเอ็นนั้นถือว่าเป็นกฎหมายที่ประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกของสหประชาชาติจะต้องปฏิบัติตามครับ

โดยข้อ 2 วรรคสี่ ของกฎบัตรยูเอ็นได้กำหนดเกี่ยวกับการใช้กำลังของประเทศสมาชิกไว้อย่างชัดเจนว่า ประเทศสมาชิกจะต้องละเว้นจากการคุกคามหรือใช้กำลังต่อบูรณาภาพอาณาเขตของรัฐใด  แต่ในข้อ 51 ของกฎบัตรยูเอ็นก็ได้กำหนดข้อยกเว้นให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้กำลังต่อกันได้ หากเป็นการป้องกันตนเอง (Self-Defence)

หลายคนคงสงสัยแล้วว่า การป้องกันตนเองคืออะไร และมีเงื่อนไขว่าในกรณีใดบ้างที่ประเทศสมาชิกจะสามารถป้องกันตนเองได้ เรามาดูกันต่อเลยครับ

การใช้กำลังเพื่อป้องกันตนเองนั้นมีเงื่อนไข ดังนี้ 1. การป้องกันตนเองได้นั้น ประเทศนั้นจะต้องเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Armed Attack”  ก่อนเสมอ และ 2. ในการใช้กำลังเพื่อป้องกันตนเองนี้ จะต้องแจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติโดยทันที

แล้วอะไรคือ “Armed Attack” ล่ะ?  ในทางปฎิบัติมักหมายถึง การรุกราน (Aggression) นั่นเองครับ

ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือที่รู้จักกันในนามของศาลโลก ก็เคยนิยามคำว่า Armed Attack ในคำพิพากษาคดีระหว่างนิคารากัวกับสหรัฐอเมริกาว่า Armed Attack คือ การรุกล้ำพรมแดนระหว่างประเทศโดยใช้กองกำลังทหาร ไม่ว่าจะรูปแบบใดเช่น การใช้กำลังแบบกองโจร หรือเป็นการโจมตีด้วยอาวุธต่อรัฐอื่น

ทั้งนี้ ในคดีนี้ศาลโลกยังได้วางหลักเพื่อไม่ให้ประเทศสมาชิกการป้องกันตนเอง เป็นเครื่องมือในการแก้แค้น (retaliation) อันถือว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ คือ 1. ในการป้องกันตนเองนั้น ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่ต้องใช้กำลังต่อกัน (การใช้กำลังต้องเป็นเครื่องมือสุดท้ายในการดำเนินการ)  2. ต้องพิจารณาถึงความได้สัดส่วน กล่าวคือ ต้องโต้ตอบแบบสมน้ำสมเนื้อ ไม่ใช้เค้ายิงมานัดนึง แต่ยิงตอบโต้กลับไปเป็นร้อย ก็ไม่ใช่ครับ  และ 3.  การป้องกันตนเอง ต้องโต้ตอบแบบทันทีทันใด ไม่ใช่ว่าเค้ายิงมา รออยู่เป็นเดือน ถึงจะโต้ตอบกลับไป อันนี้รู้สึกตัวช้าไป ไม่เรียกป้องกันตนเองครับ

ถึงตรงนี้ก็คงพอทราบกันแล้วว่า การใช้กำลังตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศนั้นมีหลักการอย่างไรบ้าง และหวังว่าเป็นประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศที่กำลังร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ได้อย่างมีอรรถรสมากขึ้นนะครับ 🙂

Review: Case Elago S5 Outfit for iPhone 5

1 Feb

สวัสดีครับ ห่างหายกันไปนานพอสมควรเลยนะครับ วันนี้ผมจะมาแนะนำเคส iPhone 5 ที่เหมาะสำหรับชาว minimalist กันครับ เคสที่ผมพูดถึงก็คือ Elago S5 Outfit นั่นเองครับ

เคส Elago S5 Outfit นั้นผลิตที่ประเทศเกาหลี ภายใต้การออกแบบที่แคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาครับ

เริ่มแรกกันเลยดีกว่าครับ Elago S5 Outfit มาพร้อมกับเพ็คเกจที่ดูดีมากครับ

Image

ภายในแพ็คเกจประกอบไปด้วย

  1. เคส Elago S5 Outfit 1 ชิ้น
  2. ผ้าไมโครไฟเบอร์ 1 ชิ้น
  3. กันรอยด้านหน้า 1 แผ่น
  4. รหัสโปรโมชั่นส่วนลด 10% 1 แผ่น (เงื่อนไขเป็นอย่างไรไม่ทราบนะครับ)
  5. แผ่นคู่มือการใส่-ถอดเคส 1 แผ่น

Image

มาดูผ้าไมโครไฟเบอร์กันแบบชัดๆกันบ้างครับ ดูหน้าตาของซองใส่ดูหรูหราจริงๆครับ

Image

มาดูคู่มือแบบชัดๆกันดีกว่าครับImage

อันนี้เป็นคูปองส่วนลด 10% แต่ไม่แน่ใจในเงื่อนไขนะครับ

Image

กันรอยที่แถมมาในกล่องครับ ดูท่าทางคุณภาพดีมากครับ 🙂 

Image

Elago S5 Outfit ทำมาจากวัสดุ 2 ชนิด คือ ไฮโดรคาร์บอนเนต และ อลูมิเนียม โดยส่วนที่เป็นอลูมิเนียมคือเฉพาะส่วนด้านหลังตรงกลาง ส่วนที่เหลือเป็นไฮโดรคาร์บอนเนต เวลาจับจะรู้สึกนิ่มๆ กว่าฮาร์ดเคสแบบอื่นครับ

Image

มีช่องสำหรับกล้องถ่ายรูปซึ่งมีการออกแบบมาอย่างดีครับ สามารถใช้แฟลชได้ไม่มีปัญหาครับ

Image

ภายด้านในจะเป็นยางนิ่มๆ จึงมั่นใจได้อย่างแน่นอนว่าจะไม่ทำให้เครื่อง iPhone 5 ของเราเป็นรอยแน่นอนครับ 🙂

Image

มีช่องสำหรับปุ่มเปิด-ปิดเสียง เพิ่ม-ลดระดับเสียงครับ

Image

มาดูแบบเต็มๆตัวกันบ้างครับ

Image

Image

 

สามารถใส่กับเครื่อง iPhone 5 ได้แนบสนิทเป็นอย่างดีครับ

Image

มาดูด้านข้างกันบ้างครับ เข้ากับช่องที่เว้นมาให้อย่างพอดีครับ

Image

มาดูด้านล่างของเครื่องกันบ้างครับ

Image

ด้านบนของเครื่องครับ

Image

สนนราคาของเจ้าเคส Elago S5 Outfit นี้ คือ 890 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)

นำเข้าโดย Vgadz สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเคสทั่วไปครับ

สรุป

สำหรับเจ้าเคส Elago S5 Outfit ตัวนี้ผมประทับใจมากครับใส่ได้แนบสนิทกับตัวเครื่อง แม้ว่าผมจะติดกันรอยแบบรอบตัวแล้วก็ไม่ได้แน่นมากเท่าใดครับ ความสวยงามก็ดูดีแบบเรียบๆ เหมาะกับชาว minimalist เป็นอย่างยิ่งเลยครับ มีการออกแบบที่ละเอียด พิถีพิถัน ส่วนของแถมที่ได้ก็ดูมีราคา โดยรวมใครที่กำลังหาเคสใหม่ให้ iPhone 5 ผมแนะนำเคสตัวนี้เลยครับ รับรองว่าท่านต้องประทับใจแน่นอนครับ 🙂

แนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม

10 Dec

ถือโอกาสวันที่ 10 ธันวาคม 2555 นี้ เป็นวันครบรอบ 80 ปีที่สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับให้แก่ปวงชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 เรามาพูดถึงแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยมกันดีกว่าครับ

รัฐธรรมนูญนิยม หรือ Constitutionalism นั้นเป็นแนวคิดซึ่งมีที่มาจากฝั่งตะวันตก โดยแนวคิดนี้เห็นว่ารัฐธรรมนูญจะต้องมีลักษณะดังนี้

1. รัฐธรรมนูญต้องเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐ
กล่าวคือ รัฐธรรมนูญมีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายที่สูงที่สุด กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ และด้วยเหตุนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมีลักษณะที่ยากกว่าการแก้ไขกฎหมายอื่นทั่วไป

2. รัฐธรรมนูญต้องอยู่ภายใต้หลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ
กล่าวคือ การจำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น และการใช้อำนนาจนั้นจะต้องถูกหลักทำนองครองธรรมด้วย

3. รัฐธรรมนูญต้องจัดวางโครงสร้างการใช้อำนาจของรัฐ
กล่าวคือ รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่กำหนดว่า การใช้อำนาจของรัฐจะมีลักษณะอย่างไร มีรูปแบบอย่างใด มีระบบการปกครองแบบใด

4. รัฐธรรมนูญต้องมีหลักเกณฑ์ในการจำกัดการใช้อำนาจของรัฐ
กล่าวคือ รัฐธรรมนูญต้องมีระบบตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจของรัฐ

5. รัฐธรรมนูญต้องมีหลักในการแบ่งแยกการใช้อำนาจของรัฐ
กล่าวคือ รัฐธรรมนูญต้องแบ่งการใช้อำนาจของรัฐเป็น 3 ด้าน คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ

6. รัฐธรรมนูญต้องมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน
กล่าวคือ รัฐธรรมนูญต้องรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆของประชาชน เช่น เสรีภาพในการนับถือศาสนา สิทธิในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้ง ต้องวางหลักเกณฑ์ที่ดำเนินการเพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ทั้งหมดนี้ก็คือ แนวคิดของรัฐธรรมนูญนิยม แล้วเพื่อนๆคิดว่ารัฐธรรมนูญของเรามีความเป็นรัฐธรรมนูญนิยมมากน้อยแค่ไหนครับ

25551210-101338.jpg
ขอบคุณรูปภาพจาก http://www.flickr.com/photos/sekoser/5107619291/ ของคุณ Dome-sekoser ด้วยครับ

ออฟฟิศ หรือ ออฟฟิซ ?

17 Oct

ในโลกเป็นจริงและโลก social network มีผู้ใช้คำทับศัพท์ office ทั้ง “ออฟฟิศ” และ “ออฟฟิซ” อย่าง แพร่หลาย แต่จริงแล้วๆ คำนี้ควรจะต้องสะกดอย่างไรจึงจะถูกต้อง ผมนายแกะถูกอาสาหาคำตอบมาให้ท่านแล้วครับ

ที่มาของ “ออฟฟิศ” และ “ออฟฟิซ”

จากการค้นในอินเตอร์เน็ตพบที่มาของคำดังกล่าว ดังนี้

1. ออฟฟิศ คำนี้ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน หมายถึง สำนักงาน ที่ทำการ

2. ออฟฟิซ คำนี้มีผู้ใช้โดยเห็นว่า คำว่า office สะกดจากภาษาอังกฤษ -ice ควรจะสะกดด้วยตัว “ซ” แทนตามรากศัพท์ภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง ดังเช่นคำว่า ไอซ์ (ice) ที่แปลว่า น้ำแข็ง จึงทับศัพท์แทนว่า ออฟฟิซ

ปัญหาของความสับสนระหว่าง ออฟฟิศ กับ ออฟฟิซ

เนื่องจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2552 ได้ยกเลิกคำว่า ออฟฟิศ ทำให้มีผู้เข้าใจว่าให้ใช้คำว่า ออฟฟิซ แทนคำว่า ออฟฟิศ ที่ยกเลิกไป

แล้วคำไหนล่ะที่สะกดถูก

จากการสืบค้นพบว่า ราชบัณฑิตยสถานได้ยกเลิกใช้คำว่า ออฟฟิศ แล้วตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยให้ใช้คำว่า สำนักงาน ที่ทำการ แทน ซี่งหมายถึงให้ใช้ภาษาไทยแทนคำทับศัพท์เป็นคำว่า สำนักงาน หรือ ที่ทำการ แทน หากๆไม่สามารถเลี่ยงได้ให้ใช้คำว่า ออฟฟิศ แทนจนกว่าพจนานุกรมเล่มใหม่จะบัญญัติให้เป็นอย่างอื่น เพราะคนไทยได้ใช้คำนี้มานานกว่าศตวรรษแล้ว แต่มิได้บัญญัติให้ใช้คำว่า ออฟฟิซ แทนแต่อย่างใด

สรุปแล้วทางราชบัณฑิตยสถานได้ยกเลิกคำว่า “ออฟฟิศ” และให้ใช้คำว่า สำนักงาน ที่ทำการ แทน แต่ตราบใดที่มิได้มีพจนานุกรมเล่มใหม่บัญญัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็ให้สะกดดังนี้ไปก่อนครับ

ดังนั้น คำว่า office ทับศัพท์เป็นคำว่า “ออฟฟิศ” นะครับ

คราวนี้คงจะทำให้หายสับสนระหว่างคำว่า ออฟฟิศ และ ออฟฟิซ กันแล้วนะครับ พบกันใหม่คราวหน้าครับ ^____^

Welcome to my official blog :)

5 Oct

หลังจากโลดแล่นอยู่ในโลก social media มาสักพัก พบว่าตนเองเป็นคนขี้บ่นมาก การจะบ่นลงสเตตัสเฟสบุ๊ก ก็ไม่สามารถ public ให้คนทั่วไปได้เห็นได้ ครั้นจะบ่นลงทวิตเตอร์ก็จำกัดตัวอักษร เลยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราควรจะมีบล๊อกเป็นของตนเอง ให้เป็นกิจลักษณะ และเป็นการรวบรวมสิ่งที่เคยแชร์ไปใน social media ต่างๆ ให้มารวมกันอยู่ ณ ที่เดียวกัน เผื่อใครที่สนใจ (จะมีมั๊ยนะ?) จะได้ตามมาอ่านได้อย่างสะดวก ด้วยเหตุนี้จึงขอใช้ช่องทางบล๊อกนี้ที่จะเสนอเรื่องราวต่างๆ เป็นอีกช่องทางนึงครับ

สำหรับเรื่องราวที่จะลงบล๊อกในช่วงแรกคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายก่อน โดยคิดว่าน่าจะดึงเรื่องราวที่เคยแชร์ผ่าน #lawtwt ในทวิตเตอร์มาลงก่อน เพราะคิดว่าน่าจะถนัดทางนี้ แล้วค่อยๆพัฒนาเป็นเรื่องอื่นครับผม

สุดท้ายนี้ขอฝากบล๊อกนี้ไว้ในอ้อมอกอ้อมใจทุกท่านด้วยครับ สวัสดีครับ ^^